พระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 มีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งตามมาตรา 8(3) ส่งเสริมสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยาง ด้านวิชาการ การเงิน การผลิต การแปรรูป การอุตสาหกรรม การตลาด การประกอบธุรกิจ และการดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
การยางแห่งประเทศไทย มีวิสัยทัศน์ “กยท.เป็นองค์กรชั้นนำระดับโลก ในการบริหารจัดการยางพาราทั้งระบบ” มีพันธกิจในการบริหารจัดการองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ให้เกิดความคุ้มค่าเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล และตอบสนองสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงรวมทั้งตอบสนองต่อเกษตรกร และสถาบันเกษตรกรในการยกระดับรายได้ และคุณภาพชีวิตเกษตรกรชาวสวนยาง…ซึ่งการจัดสวัสดิการเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง เป็นอีกหนึ่งพันธกิจที่สำคัญของกยท. ที่ต้องดำเนินการ ควบคู่ไปพร้อมๆ กันกับการพัฒนาองค์กรสู่ระดับสากล
สวัสดิการชาวสวนยางพารา มาตรา 49(5) เป็นสวัสดิการที่จัดทำขึ้นมาเพื่อเกษตรกรชาวสวนยางอย่างแท้จริงซึ่งสวัสดิการหลักๆได้แก่เงินช่วยเหลือแก่ ทายาทกรณีเกษตรกรชาวสวนยางเสียชีวิต เงินช่วยเหลือกรณีสวนยางประสบภัย และเงินกู้ยืมเพื่ออาชีพเสริม
นายพงศ์พนิต ทองนวล นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร 6 การยางแห่งประเทศไทย สาขานาทวี กล่าวถึง รายละเอียดเบื้องต้นของสวัสดิการชาวสวนยางตามมาตรา 49(5) ของพระราชบัญญัติ กยท. แบ่งได้เป็นหลายประเภทโดยหลักๆนั้นเป็นกรณีเกษตรกรชาวสวนยางเสียชีวิต และสวนยางพาราประสบภัย เช่น อัคคีภัย วาตภัย และอุทกภัย เป็นต้น ส่วนสวัสดิการอื่นๆ เป็นเงินกู้ยืมเพื่อการประกอบอาชีพเสริม และล่าสุดที่เพิ่งดำเนินการคือ การประกันอุบัติเหตุกลุ่ม ซึ่งมีวงเงินคุ้มครองถึง 500,000 บาท
โดยหลักเกณฑ์เบื้องต้นสำหรับเกษตรกรชาวสวนยางที่จะได้รับสิทธิ์สวัสดิการตรงนี้ ต้องขึ้นทะเบียนกับทางกยท.ก่อน ซึ่งการขึ้นทะเบียนในที่นี้แยกออกเป็นหลายประเภทคือ ประเภทของผู้ที่เป็นเจ้าของสวน ยางประเภทของผู้ที่ทำการกรีดยางและผู้ที่ทำสวนยาง ในที่ดินของบุคคลอื่น “ผู้ที่ทำการขึ้นทะเบียนในทุกประเภทนี้ ก็จะเข้าหลักเกฌฑ์ในการช่วยเหลือทั้งหมด”
นายดุสิต ดอเลาะห์ เกษตรกรชาวสวนยาง อำเภอนาทวี จ.สงขลา ที่ได้รับเงินช่วยเหลือหลังจากบิดาที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ กยท.เสียชีวิตลงด้วยโรคภัยไข้เจ็บ เป็นเงิน 33,000 บาท แบ่งเป็นเงินค่าปลงศพ 30,000 บาท และเงินเยียวยาจากทางกยท.อีก 3,000 บาท กล่าวว่า เงินที่ได้รับนี้ตนได้นำไปใช้ในการทำบุญเพื่อส่งเสริมศาสนาอิสลาม รวมทั้งมีความคิดที่จะไปปฏิบัติศาสนกิจที่เมืองเมกกะฮ์ หรือพิธีฮัจน์ ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย
“ครั้งแรกนั้น ผมคิดว่าจะไม่ได้รับเงินเยียวยาในส่วนนี้แล้ว ด้วยเหตุที่ใช้ระยะเวลาในการดำเนินการค่อนข้างนาน และยังต้องคอยสอบถามประสานงานกับเจ้าหน้าที่อยู่บ่อยๆ ก็รู้สึกขอบคุณและดีใจ” นายดุสิต กล่าว และว่า สวัสดิการเหล่านี้ที่ กยท.มีให้กับเกษตรกรชาวสวนยางพารา ทำให้รู้สึกได้ว่าทางกยท.ให้ความสำคัญ และออกมาช่วยเหลือจริงๆ
นางนิภาพร มโนเรศ เป็นอีกหนึ่งทายาทที่ได้รับเงินช่วยเหลือหลังจากบิดา ผู้เป็นเกษตรกรชาวสวนยาง อ.จะนะ จ.สงขลา ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกยท.เสียชีวิตเมื่อปลายปีพ.ศ. 2561 ปัจจุบันประกอบอาชีพเป็นข้าราชการครูโรงเรียนบ้านแค อ.จะนะ กล่าวว่า ครอบครัวได้รับเงินค่าทำศพจากทางกยท.30,000 บาท จาก
การที่บิดาขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางไว้กับทาง กยท.
“เพิ่งจะทราบว่าบิดาขึ้นทะเบียนไว้กับกยท.หลังจากบิดาเสียชีวิตแล้ว จึงรู้สึกดีกับการที่กยท.ได้มีสวัสดิการนี้ให้ และได้นำเงินนี้มาช่วยเหลือครอบครัว อีกทั้งปัจจุบันค่าทำศพก็ค่อนข้างจะต้องใช้ค่าใช้จ่ายเยอะ อีกทั้งมารดายังได้นำเงินส่วนนี้ไปใช้กับการปลูก ปรับปรุง ดูแลสวนยางพาราด้วย”
นางนิภาพร กล่าว
ขณะที่ นางอุบล บัวชื่น ข้าราชการเกษียณ ทายาทเกษตรกรชาวสวนยาง ต.ท่าข้าม อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกยท. ผู้ได้รับเงินช่วยเหลือจากกรณีที่บิดาเสียชีวิตลง จำนวน 30,000 บาท กล่าวว่า บิดาได้ขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรชาวสวนยางตั้งแต่ช่วงที่องค์กรเริ่มก่อตั้ง ซึ่งบิดาได้เสียชีวิตลงเมื่อช่วงต้นปีพ.ศ. 2563
“รู้สึกโชคดีที่ยังได้เงินส่วนนี้มา ถึงแม้จะเป็นเงินจำนวนไม่มากมาย แต่ก็เป็นขวัญกำลังใจที่ดี และคิดว่าเงินในส่วนนี้เป็นสิ่งที่ดีที่ กยท.ได้คิดนโยบายช่วยเหลือตรงส่วนนี้มา”
นางอุบล กล่าว และว่า
อยากให้ กยท.สานต่อโครงการนี้ต่อไป ไม่อยากให้ขาดหาย เพราะจะได้เป็นเงินช่วยเหลือ อีกทั้งเป็นการปลอบขวัญกำลังใจที่ดีให้กับครอบครัวที่ไม่มีความพร้อม หากเกษตรกรที่เป็นสมาชิกครอบครัวเกิดเสียชีวิตขึ้น โดยเงินที่ได้รับมานั้น ปัจจุบันยังคงมีอยู่ ซึ่งตนได้นำเข้าฝากบัญชีธนาคารเอาไว้ โดยตั้งใจว่าจะนำไปใช้ให้เกิดสาธารณประโยชน์ หรืออาจจะนำไปมอบเป็นทุนการศึกษา หรืออุทิศทำบุญทำกุศลตามโอกาสไป