Thailand Web Stat Truehits.net

กยท. ไขข้อกระจ่าง การชำระหนี้เงินกู้ยืมเกษตรกรชาวสวนยาง ม.49(5)

“เงินทุนกู้ยืมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยาง” เป็นโครงการที่การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จัดทำขึ้นเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางที่ประสบปัญหาในลักษณะต่างๆ ซึ่งเงินทุนกู้ยืมตัวนี้จะถูกแบ่งออกเป็นหลายๆ กรณี ได้แก่ กรณีประสบภัยพิบัติ กรณีเพื่อการรักษาพยาบาลตนเอง กรณีเพื่อปรับปรุงที่อยู่อาศัย ยานพาหนะและเครื่องมือใช้ในการประกอบอาชีพ กรณีเป็นทุนในการประกอบอาชีพเสริม และกรณีอื่นๆ ตามที่ผู้ว่าการกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย

หากเกษตรกรผู้ที่มีความต้องการจะกู้ยืมเงินเพื่อนำไปใชัตามวัตถุประสงค์ต่างๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วไม่มีความรู้ความเข้าใจมากเพียงพอ ปัญหาที่ตามมาหลังจากการกู้ยิมเงินไปแล้ว ก็จะเป็นการชำระหนี้เงินกู้ยืมที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น การประชาสัมพันธ์รายละเอียดของสวัสดิการต่างๆ จึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่กยท. มุ่งมั่นจะให้ความรู้กระจายออกไปอย่างเต็มที่

เนื้อหาที่จะแสดงต่อไปนี้จะเป็นขั้นตอนการชำระหนี้เงินกู้ยืมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยาง และวิธีการปฏิบัติงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการชำระหนี้ตามหลักการ ‘คู่มือปฏิบัติงาน ตามระเบียบการยางแห่งประเทศไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการใช้จ่ายในสวัสดิการเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง พ.ศ.2560 ตามมาตรา 49 (5)’

การชำระหนี้เงินกู้ยืม

ผู้กู้ต้องชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยเป็นงวดๆ ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาตามวัตถุประสงค์แห่งการกู้ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกิน 2 ปี และให้ดำเนินการดังนี้

1. งวดการชำระคืนเงินกู้ยืมทุกสัญญาให้มีผู้มีอำนาจอนุมัติเงินกู้ยืมเป็นผู้กำหนดให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการกู้ยืมเงินตามระยะเวลาในสัญญาเงินกู้ยืม

2. ผู้กู้ต้องชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย ตามงวดเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาเงินกู้ยืม

3. กรณีเกิดเหตุสุดวิสัยหรือเหตุความจำเป็น เช่น ภัยธรรมชาติ ภัยพิบัติ ภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ หรือเหตุอื่นตามที่การยางแห่งประเทศไทยเห็นสมควร ให้เสนอผู้มีอำนาจอนุมัติพิจารณาขยายระยะเวลาการส่งใช้เงินกู้ยืมออกไปได้ตามความจำเป็นคราวละไม่เกิน 60 วัน ทั้งนี้ การขอขยายเวลาการส่งใช้จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ค้ำประกัน การขอผ่อนผัน/ขยายเวลาชำระหนี้ ให้ผู้กู้ยืมที่ประสงค์จะขอผ่อนผัน/ขยายเวลาชำระหนี้ ยื่นเรื่องขอผ่อนผัน/ขยายเวลาชำระหนี้พร้อมเหตุผลต่อผู้มีอำนาจอนุมัติ ก่อนหนี้จะถึงกำหนดชำระทั้งหมดหรือแต่ละงวด

ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยหรือมีความจำเป็นอื่นอันมิใช่เกิดจากเหตุทุจริต ซึ่งทำให้ผู้กู้ยืมเงินไม่สามารถส่งใช้คืนเงินกู้ยืมเมื่อถึงกำหนดใช้คืนตามสัญญาได้ให้ยื่นคำร้องขอผ่อนผัน/ขยายเวลาชำระหนี้ได้ตามข้อเท็จจริง โดยมีหลักฐานประกอบเพื่อพิจารณาตามที่การยางแห่งประเทศไทยกำหนดให้ผู้มีอำนาจอนุมัติพิจารณาอนุมัติผ่อนผัน/ขยายเวลาการส่งใช้คืนเงินกู้ยืมและ/หรืองดการคิดดอกเบี้ย ค่าปรับตามความสามารถในการส่งชำระหนี้ได้

การคิดอัตราดอกเบี้ย

อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี หากผู้กู้ไม่สามารถชำระเงินกู้คืนได้ และติดต่อขอผ่อนผันการชำระหนี้ ให้ผู้ว่าการหรือผู้ที่ผู้ว่าการมอบหมายเป็นผู้พิจารณาผ่อนผันได้ตามเหตุผลหรือความจำเป็น แต่ต้องมีระยะเวลาไม่เกิน 60 วันนับจากวันครบกำหนดชำระของงวดนั้นโดยไม่ให้ถือว่าผู้เป็นผู้ผิดนัด ทั้งนี้การผ่อนผันการชําระหนี้จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ค้ำประกัน

การบอกเลิกสัญญา

ให้ผู้ว่าการหรือผู้ที่ว่าการมอบหมายสามารถบอกเลิกสัญญาเงินกู้ได้หากผู้กู้แสดงข้อความหรือหลักฐานอันเป็นเท็จในการขอกู้เงินและให้เรียกเก็บเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามกฎหมาย พร้อมทั้งตัดสิทธิการได้รับเงินทุนกู้ยืมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน

การติดตามการชำระหนี้/การเร่งรัดหนี้ค้างชำระ

การติดตามหนี้กรณีที่ผู้กู้ไม่ชำระเงินกู้ภายในระยะเวลาที่กำหนดให้มีพนักงานผู้รับผิดชอบการออกติดตามและรายงานให้ผู้ว่าการหรือผู้ที่ผู้ว่าการมอบหมายทราบความก้าวหน้าทุก 3 เดือน

1. หลังจากที่ผู้กู้ได้รับเงินไปแล้วประมาณ 1 เดือน ให้พนักงานที่ได้รับมอบหมายไปตรวจสอบว่าผู้กู้นำเงินไปใช้ตามวัตถุประสงค์หรือไม่ พร้อมติดตามผลการดำเนินกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ

2. ให้การยางแห่งประเทศไทยที่อนุมัติเงินกู้ยืม จัดให้มีระบบตรวจสอบและรายงานสถานการณ์ของลูกหนี้ทุกเดือน และทำหนังสือแบบแจ้งให้ชำระหนี้เงินกู้ยืมตามแบบ งสก.5 ให้ผู้กู้ทราบล่วงหน้า 30 วัน ก่อนวันครบกำหนดชำระหนี้ตามงวดที่ระบุไว้ในสัญญากู้เงิน

3. หากครบกำหนดการชำระหนี้ หรือครบกำหนดขอผ่อนผัน หรือครบกำหนดขยายเวลาการส่งใช้หนี้ตามงวดที่ระบุไว้ในสัญญากู้เงิน ให้ทำหนังสือแจ้งเตือนการชำระหนี้ครั้งแรกตามแบบ งสก.6 ด้วยการจัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับเป็นหลักฐาน และสำเนาหนังสือแจ้งเตือนให้พนักงานกยท. ที่รับผิดชอบเพื่อติดตามการรับหนังสือแจ้งเตือนกับผู้กู้ยืมเงิน

4. หากดำเนินการตามข้อ 3 แล้ว ผู้กู้ยังไม่ชำระหนี้ ให้ทำหนังสือแจ้งเตือนการชำระหนี้ครั้งที่ 2 ตามแบบ งสก.6 ด้วยการจัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับเป็นหลักฐานและสำเนาหนังสือแจ้งเตือนให้พนักงานกยท. ที่รับผิดชอบ เพื่อติดตามการรับหนังสือแจ้งเตือนกับผู้กู้ยืมเงิน

5. หากดำเนินการตามข้อ 4 แล้ว กรณีผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร หรือพ้นกำหนดผ่อนผัน และหรือพ้นกำหนดขยายเวลาการส่งใช้ ให้ถือว่าผู้กู้ผิดนัดและให้คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี และบังคับชำระหนี้ จากผู้กู้และผู้ค้ำประกัน ในกรณีบังคับชำระหนี้จากผู้ค้ำประกันให้ส่งหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระหนี้

6. กรณีมีเหตุอันควรเพื่อให้ความช่วยเหลือโดยการปรับลด หรืองดอัตราดอกเบี้ยปรับ เป็นการดำเนินการเมื่อลูกหนี้ประสงค์จะใช้หนี้ และการยางแห่งประเทศไทยที่อนุมัติให้กู้ยืมเงิน เห็นว่าลูกหนี้ค้างชำระสมควรได้รับความช่วยเหลือในกรณีเช่น ประสบภาวะขาดทุน ประสบภัยธรรมชาติ เป็นต้น ให้บันทึกความเห็นและหลักฐานประกอบตามแบบการปรับปรุงโครงสร้างหนี้/ผ่อนผัน/ขยายเวลาชำระเงินกู้ยืมตามแบบ งสก.7 เสนอต่อผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทยเพื่อพิจารณาต่อไป

7. การขออนุมัติจำหน่ายลูกหนี้ออกจากบัญชีเป็นสูญ เป็นการดำเนินการเมื่อลูกหนี้ชี้แจงเหตุผลอันพึงฟังได้ และการยางแห่งประเทศไทยที่อนุมัติเงินกู้ยืม เห็นว่าหนี้ค้างชำระสมควรจำหน่ายลูกหนี้ออกจากบัญชีเป็น สูญได้โดยถือปฏิบัติตามระเบียบที่การยางแห่งประเทศไทยกำหนด

8. สัญญากู้ยืมเงินที่ตกลงชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ (หมายความรวมถึงกรณีส่งทั้งดอกเบี้ยพร้อมกับเงินต้นหรือผ่อนเฉพาะดอกเบี้ย) มีกำหนดอายุความ 5 ปี นับแต่วันผิดนัด กรณีตกลงชำระคืนครั้งเดียวทั้งจำนวนมีกำหนดอายุความ 10 ปี นับแต่วันผิดนัด

8.1 กรณีลูกหนี้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ตามแบบงสก.8 ชำระหนี้ให้บางส่วน ชำระดอกเบี้ยต่อเจ้าหน้าที่ภายในกำหนดอายุความ ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ให้เริ่มนับอายุความใหม่นับตั้งแต่เวลานั้น

8.2 กรณีสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้ว ต่อมาลูกหนี้ได้รับสภาพความรับผิดชอบโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นใหม่มีกำหนดอายุความ 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับสภาพความรับผิด

หนี้ค้างชำระ

เป็นระบบการเตือนลูกหนี้ค้างชำระที่ไม่ได้ชำระหนี้ตามงวด

การดำเนินการทางศาล

วัตถุประสงค์เพื่อดำเนินคดีกับลูกหนี้ที่ไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง หรือข้อกำหนดที่เป็นลายลักษณ์อักษร การดำเนินการทางศาล มิใช่วิธีการแก้ไขปัญหาหนี้ค้างชำระ แต่เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการเรียกเก็บหนี้ ซึ่งจะใช้กับลูกหนี้ที่มีปัญหามากและยากแก่การแก้ไขแล้ว โดยเฉพาะลูกหนี้ที่มีความสามารถในการชำระหนี้แต่ไม่ยอมชำระหนี้ การฟ้องร้องดำเนินคดีจะต้องใช้เวลานานและเมื่อคดีสิ้นสุดแล้วจะได้นำทรัพย์สินมาขายทอดตลาดต่อไป

การคำนวณดอกเบี้ย ค่าปรับ และการชำระหนี้

ข้อ 1 การคำนวณดอกเบี้ยและค่าปรับ

1.1 การคิดดอกเบี้ยให้คิดดอกเบี้ยเงินกู้ยืมร้อยละ 2 ต่อปี โดยคำนวณตามเงินต้นคงเหลือเป็นรายวัน

1.2 กรณีผู้กู้ยืมเงินที่ผิดนัดการชำระหนี้งวดใด ให้คิดค่าปรับในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีสำหรับเงินต้นในงวดนั้น

1.3 กรณีกู้ยืมเงินนำเงินกู้ยืมไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ของโครงการที่ขออนุมัติ ให้การยางแห่งประเทศไทยที่อนุมัติเงินกู้ยืม แจ้งให้ผู้กู้ยืมเงินส่งคืนเงินกู้ยืมทั้งหมดทันที และให้คิดค่าปรับในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่ได้รับเงินกู้ถึงวันก่อนส่งใช้เงินกู้ยืม 1 วัน

ข้อ 2 การชำระหนี้เงินกู้

2.1 งวดการชำระคืนเงินกู้ทุกสัญญา ให้ผู้มีอำนาจอนุมัติเงินกู้ยืมเป็นผู้กำหนดให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการยืมเงิน ทั้งนี้ไม่เกินระยะเวลาตามสัญญาการกู้ยืมเงิน นับจากวันทำสัญญาเงินกู้เว้น แต่กรณีพิเศษให้เสนอผู้มีอำนาจอนุมัติ พิจารณาขยายเวลาการส่งใช้ออกไปได้ตามความจำเป็น แต่ไม่เกิน 1 ปี และจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ค้ำประกัน

2.2 คู่กู้ยืมเงินต้องชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย ตามงวดเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาเงินกู้ยืม

2.3 หากผู้กู้ยืมเงินไม่สามารถชำระเงินกู้ยืมได้ และติดต่อขอผ่อนผันการชำระหนี้ให้ผู้มีอำนาจอนุมัติเงินกู้ยืม เป็นผู้พิจารณาผ่อนผันได้ตามเหตุผลหรือตามความจำเป็นแต่ต้องมีระยะเวลาไม่เกิน 60 วัน นับจากวันครบกำหนดชำระของงวดนั้น โดยไม่ให้ถือว่าเป็นผู้ผิดนัด ทั้งนี้การผ่อนผันการชําระหนี้จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ค้ำประกัน

2.4 หากผู้กู้ยืมเงินผิดนัดการชำระหนี้ตามสัญญาโดยไม่มีเหตุผลสมควร หรือพ้นกำหนดผ่อนผัน และหรือพ้นกำหนดขยายเวลาการส่งใช้ ให้ถือว่าผู้กู้ยืมเงินผิดนะ และให้บังคับชำระหนี้จากผู้กู้ยืมเงิน ผู้ค้ำประกัน

ในกรณีบังคับชำระหนี้จากผู้ค้ำประกันให้ส่งหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายใน 60 วันนับแต่วันที่ผู้ผู้กู้ยืมเงินยืมเงินผิดนัดไม่ชำระหนี้

การจัดชั้นลูกหนี้เงินกู้ยืม

วิธีการจัดชั้นลูกหนี้เงินกู้เพื่อให้เกิดความสะดวกในการติดตามหนี้ จะจัดชั้นลูกหนี้เงินกู้ยืมโดยแบ่งกลุ่มตามประวัติการชำระหนี้ ดังนี้

1. ลูกหนี้ที่มีความรับผิดชอบไม่เคยผิดชำระหนี้

2. ลูกหนี้ที่มีประวัติการชำระหนี้ไม่สม่ำเสมอ เคยออกหนังสือเตือนการชำระหนี้

3. ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ มีเจตนาไม่ชำระหนี้

ทั้งนี้การจัดชั้นลูกหนี้เงินกู้ อาจนำข้อมูลนี้มาพิจารณาช่วยเหลือลูกหนี้ค้างชำระ สมควรได้รับความช่วยเหลือในกรณี เช่น ประสบภาวะขาดทุน ประสบภัยธรรมชาติ เป็นต้น โดยสามารถให้ความช่วยเหลือโดยการปรับลด หรืองดอัตราค่าปรับ ทั้งนี้อยู่ในการพิจารณาของผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย

การปรับปรุงโครงสร้างหนี้

ลักษณะหนี้ที่จะขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ มีดังนี้

1. หนี้ที่เกิดจากเหตุสุดวิสัย หรือดหตุความจำเป็น เนื่องจากไม่สามารถดำเนินตามโครงการได้ เช่น สาเหตุจากภัยธรรมชาติ ภัยพิบัติ หรือสาเหตุอื่นๆ ที่คณะกรรมการฯ เห็นสมควร

2. ต้องมีแผนปรับปรุงฟื้นฟูการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจนและมีความเป็นไปได้

3. สมัครใจและยินยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขเกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้

4. ลักษณะของหนี้ที่ไม่สามารถปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้ คือ มีที่เกิดจากการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ หรือการทุจริต

วิธีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ให้ดำเนินการ ดังนี้

1. คณะกรรมการพิจารณา คงดอกเบี้ย ลดอัตราดอกเบี้ย หรืองดดอกเบี้ยตามความเหมาะสมของสาเหตุการผิดชำระหนี้ (ตามลักษณะหนี้ที่จะขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ข้อ 1)

2. นำเงินต้นคงเหลือพร้อมดอกเบี้ยเงินกู้ (ถ้ามี) มาขยายระยะเวลาการชำระหนี้ออกไปตามความสามารถชำระหนี้ของลูกหนี้ และให้ทำสัญญาการกู้ยืมเงินพร้อมสัญญาค้ำประกันฉบับใหม่

ระยะเวลาชำระเงินคืนกู้ยืมที่ปรับปรุงโครงสร้างหนี้

ระยะเวลาการชำระคืนเงินกู้ยืมที่ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ขยายเวลาได้ไม่เกิน 2 ปี

แนวทางปฏิบัติกรณีผู้กู้ยืมเงินขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้

1. ต้องยื่นคำขอตามแบบ งสก.7 ต่อพนักงาน

2. ตรวจสอบเอกสาร

2.1 กรณีเอกสารไม่ครบถ้วนและ/หรือไม่ถูกต้อง ให้แจ้งผู้ยื่นคำขอฯ ดำเนินการแก้ไขและจัดส่งเอกสารเพิ่มเติมให้ครบถ้วน

2.2 กรณีเอกสารถูกต้องครบถ้วนให้พนักงานผู้รับผิดชอบตรวจสอบและสัมภาษณ์ลักษณะของหนี้ของผู้ยื่นคำขอฯ ว่ามีคุณสมบัติที่จะปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามระเบียบฯ ที่กำหนด

Leave a Comment

Your email address will not be published.