ชาวเกาะลิบง จะไม่ทน! ทิ้งตะกอนโคลนทรายถมทะเล ทำหญ้าทะเลอาหารพะยูนสัตว์ทะเลหายากใกล้สูญพันธุ์ และส่งผลกระทบต่อชีวิตชาวเกาะ มติที่ประชุมประชาคมหมู่บ้าน จี้ผู้เกี่ยวข้องสั่งระงับโครงการเร่งด่วน ขีดเส้นวันจันทร์หากยังดื้อดึงเตรียมใช้ยาแรงนำเรือประมงขวางปิดกั้นทางน้ำ
เมื่อเวลา14.00 น.วันนี้ 8 ต.ค.63 ณ.อาคารจริยธรรมมัสยิด หมู่ 7 บ้านทรายแก้ว ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง พี่น้องประชาชนชาว ต.เกาะลิบง ประมาณ 200 คน และผู้นำท้องที่ ผู้นำศาสนา และองค์กรภาคประชาชน ประมงพื้นบ้าน โดยมี นายอับดุลร่อหีม ขุนรักษา กำนัน ต.เกาะลิบง นายสิทธิพร จิเหลา นายก อบต.เกาะลิบง ร่วมเวทีชาวบ้านในชุมชนในประเด็นการแก้ไขทิ้งตะกอนโคลนทรายบริเวณหน้าเกาะลิบง ซึ่งทำให้หญ้าทะเลได้รับความเสียหายยับเยินเป็นวงกว้าง
โดยที่ประชุมได้ตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนในการทำงาน 15 ราย ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากทุกภาคส่วน นายสะปิอี เทศนำ นายอาบิดีน จิเหลา นายอาทร เหล็กเกิดผล นายหวังหมาด หวังบริสุทธิ์ นายอ่าหลี จงราบ นายนิสิต ชัยฤทธิ์ นายศรายุทธ สารสิทธิ์ นายจีระศักดิ์ ปังตา นายเอกรินทร์ ปังตา นายร่อหมาน คงเหล่า นายร่อหีม คงเหล่า นายอ่าหมัด ชัยฤทธิ์ นายสุเทพ ขันชัย นายนาฏยา จิเหลา นายสุไลหมาน เด็นหลี ซึ่งมติในที่ประชุมจะทำหนังสือส่งให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้รับทราบความต้องการของชุมชนเพื่อการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่และมีมติในที่ประชุมตกลงให้เรือที่ทิ้งโคลนระงับการทิ้งโคลน จนกว่าจะมีการตรวจสอบและชี้แจงต่อไปต่อหน้าชาวบ้านในชุมชน
ด้าน นายสะปีอี เทศนำ อายุ 50 ปี ประธานกลุ่มรักษ์เลลิบง กล่าวว่า วันนี้มาประชุมเรื่องที่เจ้าท่า มีการถ่มโคลนในพื้นที่เกาะลิบง ซึ่งเกิดความเสียหายในพื้นที่เกาะลิบง และเราไม่ต้องการให้มีการขุดถ่มโคลนอีก ซึ่งมีการขุดติดต่อกันมาตั้งแต่ปี 2560 โดยที่หน่วยงานไม่เข้ามาดูแลถึงความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะหญ้าทะเล 99%ได้รับความเสียหาย คนในชุมชนก็ไม่ต้องการให้มีการถมโคลนจาก อ.กันตัง อีก วันจันทร์เราจะมีการยื่นหนังสือไปยังกรมเจ้าท่า และศูนย์ดำรงธรรม อ.กันตัง แต่หากยังมีการถมโคลนอีก เราจะรวมตัวกับชาวบ้านนำเรือไปขวางทางน้ำไม่ให้มีการดำเนินการอีก
ประธานกลุ่มรักษ์เลลิบง กล่าวต่อไปว่า ตนได้ดำเนินการเรื่องนี้มาเป็นเวลา 1 ปี มาแล้วด้วยตัวเอง และวันนี้ขอความร่วมมือจากชาวบ้าน ผลกระทบที่เกิดขึ้นเกิดจากการทิ้งโคลนที่มีสารเคมีปะปนอยู่ ปริมาณของดินทรายที่ถมมาเป็นจำนวนมากส่งผลให้ทับถมและเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์ของชาวเกาะลิบง ถูกทับถมด้วยดินทราย พื้นที่ชาวบ้านหากุ้ง หอย ปูปลา ก็จะเสียหายหมด ชาวบ้านมาบ่นและบอกว่าสัตว์ทะเลตาย เพราะออกซิเจนในน้ำต่ำ น้ำจะมีสีขุ่น หมอง
ขณะที่ นายอาบีดีน จิเหลา อายุ 40 ปี เลขานุการกลุ่มรักษ์เลลิบง กล่าวด้วยว่า มติของชุมชนให้หยุดการทิ้งก่อน จนกว่าจะมีคำชี้แจงว่าทำไมส่งผลให้หญ้าทะเลตายไป หากไม่ฟังก็จะไม่อยู่เฉยเราจะออกไปห้ามปราม ทุกคนเครียดที่ว่าหม้อข้าวเราถูกทำลาย ถ้าเราไม่ปกป้องมันก็จะถูกทำลายไปเรื่อยๆ ถ้าไม่ปกป้องก็อาจจะถูกทำลายหมด ต้องบอกว่าหญ้าทะเลเสียหายบางจุด พะยูน 1 ตัวกินอาหาร 35 ก.ก. หากพะยูนต้องตายก็เหมือนว่าคนก็ต้องตายด้วย
สำหรับโครงการดังกล่าว ทางสำนักพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำ (สพบ.) กลุ่มแผนงานพัฒนาทางน้ำ กรมเจ้าท่า ได้ว่าจ้าง บริษัทแสงเจริญมารีนเซอร์วิส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทรับเหมาขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำกันตัง พบจุดทิ้งอยู่ห่างจากแหล่งหญ้าทะเลประมาณ 5 กม. เชื่อเกิดจากสภาวะอากาศแปรปรวนส่งผลต่อทิศทางการกระจายของตะกอนดิน จนยากต่อการควบคุม ส่งผลให้เกิดการตายของหญ้าทะเลในบริเวณอ่าวทุ่งจีน เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์และพันธุ์พืช ซึ่งเป็นแหล่งหญ้าทะเลผืนใหญ่ แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนและอาหารของพะยูนได้เน่าตายลงเป็นบริเวณกว้างคาดว่าน่าจะเกิดจากการทับถมของตะกอนโคลนที่ถูกนำไปทิ้งบริเวณดังกล่าว ก่อนถูกกระแสคลื่นลมพัดพาเข้าไปทับถม หวั่นพะยูนสัตว์ทะเลหายากจะสูญพันธุ์ในอนาคต ก่อนหน้านี้ตั้งแต่ช่วงต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ทางตัวแทนชาวบ้านเสนอให้กรมเจ้าท่าเปลี่ยนจุดทิ้งและจะร่วมกันฟื้นฟูต่อไปแต่ไม่เป็นผล จึงรวมตัวกันประชุมเพื่อเร่งระงับโครงการดังกล่าว.