ชาวตรังสุดเศร้า! ส่งท้ายปี สลดซ้ำพบซากพะยูนเพศผู้ สัตว์ทะเลหายาก ถูกคุกคาม ล่าเลาะเขี้ยวตัวที่ 2 ในรอบ 14 วัน กลางทะเลตรัง
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 30 ธ.ค.63 นายสมาน ใจสมุทร อายุ 47 ปี ทำอาชีพประมงพื้นบ้าน อยู่บ้านเลขที่ 45/6 ม.4 บ้านแหลมตะเสะ ต.ตะเสะ อ.หาดสำราญ จ.ตรัง ได้แจ้ง นายชีวิน หลงกลางผู้ใหญ่บ้าน ม.2 ต.ตะเสะ และเป็นรองประธานกลุ่มอนุรักษ์โลมา ว่าพบพะยูนลอยตายอยู่หน้าเกาะเหลาเหลียง ภายในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา พื้นที่ ม.1 ต.เกาะสุกร อ.ปะเหลียน หลังจากรับแจ้งจึงได้ผูกเชือกที่ตัวพะยูน นำลากขึ้นมาบนฝั่งบริเวณท่าเรือหัวแหลมตะเสะ ก่อนจะประสาน นายธนิต ชูเพ็ง หรือ ส.จ.เอียด อดีต ส.อบจ.ตรัง เขตอำเภอหาดสำราญ เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง รุดมาตรวจสอบ
พบพะยูนเพศผู้ ขนาดความยาว 2.8 เมตร วงรอบตัว 2 เมตร สภาพเริ่มส่งกลิ่นเหม็นคาวคละคลุ้ง คาดว่าเสียชีวิตมาแล้วประมาณ 5 วัน ตรวจสอบลำตัวบริเวณชายโครงด้านขวา พบมีบาดแผลน่าจะโดนแทงลึกเข้าไป ปากแผลประมาณ 1.50 ซม. ที่ครีบหน้าพบมีบาดแผลคล้ายรอยเชือกไนล่อนรัด แต่ที่เป็นภาพน่าสลดใจ เมื่อตรวจสอบบริเวณเขี้ยว ปรากฏว่าเขี้ยวทั้ง 2 ข้างได้สูญหายไป บริเวณเนื้อในปากมีร่องรอยโคนเขี้ยวหลงเหลืออยู่บางส่วน และแตกเป็นเศษเสี้ยว คาดว่าน่าจะโดนตัดและสกัดตอกด้วยของแข็งมีคมเพื่อเอาเขี้ยวไป
นายสมาน กล่าวว่า ในระหว่างที่ตนเองกำลังแล่นเรือกลับจากวางอวนหาปลา ปรากฏว่าพบพะยูนตัวดังกล่าวลอยตายอยู่บนผิวน้ำกลางทะเล ที่จึงเข้าไปดูลากเข้ามาบนชายฝั่ง ที่ผ่านมาก็ได้พบเต่าทะเลตายมาเช่นกัน ในพื้นที่บริเวณนี้มีพะยูนอาศัยอยู่แต่ไม่ค่อยชุกชุมเท่ากับหน้าเกาะลิบง อ.กันตัง ส่วนใหญ่ในพื้นที่นี้จะมีโลมาชุกชุมมากกว่า ตนก็รู้สึกเสียดาย พะยูนถือเป็นหน้าตาของเมืองตรัง ตนใช้เรือลากนำซากพะยูนตัวดังกล่าวกลับมาฝั่งถือว่าลำบากใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ตอนนี้ก็บอกไม่ถูกว่าตายด้วยสาเหตุใด แต่มีบาดแผลค่อนข้างมาก
ด้าน นายชีวิน หรือผู้ใหญ่ชี กล่าวด้วยว่า หลังจากทราบเรื่องจึงได้ประสานเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง แต่ที่เป็นภาพที่น่าสลดคือพะยูนตัวนี้ไม่มีเขี้ยวแล้ว โดยพะยูนตัวผู้จะมีเขี้ยวยาวกว่าพะยูนตัวเมีย โดยมีแผลโดนแทงข้างลำตัว โดยมองว่าเขี้ยวที่หายไปครั้งนี้น่าจะนำออกตอนที่พะยูนตายลงแล้วแต่การนำเอาเขี้ยวไปน่าจะไม่ใช้เป็นการตัดเอาไป แต่น่าจะใช้ของแข็งตอกสกัดออกไป เพราะโคนเขี้ยวยังหลงเหลืออยู่และมีเศษเขี้ยวรอยแตกตกอยู่ ตนเองเสียใจอย่างมากไม่คิดว่าจะเป็นภาพส่งท้ายปีเก่าที่ต้องสูญเสียพะยูนไปแบบนี้ น่าเสียดายพะยูนเหลือน้อยมา พะยูนถือว่าเป็นทรัพยากรที่สำคัญของโลก เป็นหน้าตาของคนตรัง ส่วนเรื่องความเชื่อของเขี้ยวพะยูนและน้ำตาดุหยง หรือน้ำตาพะยูน เคยได้ยินคำบอกเล่ากี่ยวกับเรื่องเมตตามาหานิยม แต่ตนไม่เคยเห็นพิธีกรรมใดในพื้นที่มาก่อน
รายงานข่าวระบุว่า เป็นที่น่าสังเกตว่าภายในรอบระยะเวลาเพียงแค่ 14 วันหลังจากที่พบพะยูนถูกฆ่า ล่าเลาะเขี้ยวไปก่อนหน้านี้ในพื้นที่ ต.เกาะลิบง อ.กันตัง เชื่อต้องมีขบวนการล่า หรืออาจจะเป็นใบสั่งของกลุ่มคนนิยมเครื่องรางของขลังเสริมบารมี เมตตามหานิยม ชาวบ้านพูดเป็นเสียงเดียวกันไม่ใช่เกิดจากความบังเอิญอย่างแน่นอน.
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ก่อนหน้านี้ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะประธานคณะทำงานสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ เปิดเผยว่า คณะทำงานฯ รวมไปถึงทีมแพทย์จากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มานั่งถกร่วมกันให้ข้อมูลเพื่อสรุปในที่ประชุมว่า มีผู้เจตนาฆ่าพะยูนแบบทางการได้ รวมทั้งยื่นเรื่องไปยังอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติโดยข้อเสนอของเราคือ ต้องการหน่วยงานพิเศษที่มีศักยภาพในการสืบหาตัวและปราบปรามผู้กระทำความผิดอย่างจริงจัง เช่นเดียวกับหน่วยงานปราบปรามการลักลอบค้าสัตว์ป่า ซึ่งที่ผ่านมาเคยพบว่ามีพะยูนถูกเลาะฟัน แต่ไม่เคยมีหลักฐานว่ามีผู้เจตนาฆ่าชัดเจนเท่ากับครั้งนี้
อาจารย์ธรณ์ เปิดเผยอีกว่า ในปีนี้ 2563 มีพะยูนตายทั้งสิ้น 20 ตัว ส่วนปี 2562 มีพะยูนตาย 23 ตัว หากสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ ใน 2 ปี มีพะยูนตายรวมกันถึง 40 กว่าตัว พะยูนทั้งหมดมีประมาณ 200 กว่าตัว ถือเป็นการตายที่มากผิดปกติตามที่ควรจะเป็นตามธรรมชาติ 2 เท่า ประชากรพะยูนจะต้องลดลงอย่างแน่นอน เมื่อพูดถึง “พะยูน” ก็ทำให้คนนึกถึง จ.ตรัง เป็นเหมือนมาสคอตทำให้คนมาท่องเที่ยวกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับชุมชน เมื่อคนรู้จักพะยูน ก็จะช่วยกันอนุรักษ์ทะเลทั้งหมดของประเทศไทย เชื่อว่าชาวบ้านในชุมชนเข้าใจดีว่า หากไม่มีพะยูนแล้วจะได้รับผลกระทบขนาดไหน นี่คือสิ่งสำคัญที่ทำให้เราต้องช่วยกันอนุรักษ์พะยูน.