พลิกวิกฤตเป็นโอกาส นำปลาหลังเขียวเป็นปลาน้ำเค็มที่ขนาดตัวไม่ใหญ่ มีก้างเล็กๆ จำนวนมาก เมื่อชาวประมงจับได้ส่วนใหญ่จะนำมาแปรรูปเป็นปลาเค็มตากแห้ง และนำไปเป็นอาหารสัตว์ คนไม่นิยมรับประทาน จึงทำให้ปลาหลังเขียวมีราคาถูกและราคาถูกสุดๆถึงกิโลกรัมละ 3 บาท จนหลายคนมองไม่เห็นคุณค่าของปลาเหล่านี้
ผลพวงสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ชาวบ้านหันมาปรับตัวพลิกวิกฤตเป็นโอกาสทำปลาหลังเขียวสร้างมูลค่าหลังจากมีการนำมาแปรรูป ซึ่งปลาหลังเขียว 1 ตัว สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด ตั้งแต่เนื้อปลา ก้าง หัวไส้ของปลา สามารถสร้างเป็นตัวเงินได้ทั้งหมดและมีราคาสูงขึ้นเป็นที่สนใจและนิยมรับประทานของผู้บริโภคมากขึ้น
นางสาวไอลดา คงวิพัฒนากุล หรือน้องแนท และ นางสาวศรัณย์ เอปะกะ หรือน้องอ้อม อยู่บ้านเลขที่ 150/4 หมู่ที่ 1 ต.บ้านควน อ.เมืองตรัง จ.ตรัง 2 สาววัยรุ่นยุคใหม่ หันมาสร้างอาชีพนำปลาหลังเขียวมาแปรรูปทำปลาหวานขายสร้างมูลค่าเพิ่มสร้างรายได้เลี้ยงชีพรายได้ดี 3 เท่าตัว
นางสาวไอลดา หรือ น้องแนท เผยว่า เดิมทีตนเป็นชาว อ.ตะกั๋วป่า จ.พังงา ยึดอาชีพเป็นหมอนวดแพทย์แผนไทยเดินให้บริการรับนวดตามบ้านเรือน โดยทางบ้านตนเองไม่ได้ประกอบอาชีพทำปลาหวานแต่เปิดร้านขายขนมจีนน้ำยา ก่อนจะเดินทางมาอาศัยเช่าบ้านอยู่ที่ จ.ตรัง แรกเริ่มได้ทำน้ำพริกขายแต่เนื่องจากน้ำพริกไม่สามารถเก็บไว้ได้นาน จึงหันมาทำปลาหวานเพราะสามารถเก็บไว้ได้นานเป็นเดือน ไม่เสีย ไม่ใส่สารกัดบูด โดยมีพี่สาวแนะนำสูตรให้และตนเองได้มาดัดแปลงให้เป็นสูตรเฉพาะของตนเอง ลองผิดลองถูกอยู่หลายครั้ง จนได้รสชาติที่ออกมาอร่อยถูกปาก
นางสาวไอลดา หรือ น้องแนท เล่าต่อไปว่า ก่อนที่จะตัดสินใจทำปลาหวานต้องดูบ้านเช่าที่มีพื้นที่โล่งกว้างแดดส่องถึงเหมาะแก่การตากปลา และกลิ่นไม่ไปรบกวนเพื่อนบ้านข้างเคียง ปลาหลังเขียวตนเองจะเดินทางไปรับที่แพปลา อ.กันตัง จ.ตรัง ซึ่งก็ต้องไปแบบเสี่ยงดวงเพราะบางวันไปแล้วไม่ได้ปลากลับมา ปลาไม่เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งปลาที่แพได้มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นอยู่ที่กิโลกรัมละ 30 บาท ซึ่งจะไปรับปลาที่แพในช่วงบ่ายและกลับมาแปรรูปในตอนกลางคืน ในแต่ละวันจะใช้ปลาประมาณวันละ 30-40 กิโลกรัม ปลา 30 กิโลกรัม จะได้เนื้อปลา 15 กิโลกรัม กระดูกก้างได้ 1กิโลกรัมครึ่ง
สำหรับกรรมวิธีการทำ เรานำปลาหลังเขียวมาตัดตัวและราวท้องจากนั้นนำมาแล่เนื้อเอากระดูกก้างออกโดยที่ไม่ให้ตัวปลาแยกออกจากกันและแกนก้างยังคงรูปที่สวยงาม ล้างทำความสะอาดปลาอีกครั้งให้สะอาดและพักไว้ จากนั้นนำส่วนผสมทั้งหมด เช่น เกลือ น้ำตาลทราย ซีอิ้วดำ งาขาว(ใช้โรยบนตัวปลาลำดับสุดท้าย) นำส่วนผสมทั้งหมดคลุกเคล้าให้เข้ากันโดยสัดส่วนกะพอประมาณให้ได้สัดส่วนของเนื้อปลา นำมาปลาทั้งหมดรวมทั้งกระดูกก้างลงไปคลุกเคล้าให้เข้ากันจากนั้นใช้เวลาหมัก 3 ชั่วโมง ก็สามารถนำมาผึ่งในตะแกรงโดยแผ่เนื้อปลาเรียงเป็นแถวต่อกันอย่างสวยงาม จากนั้นใช้งาขาวโรยบนตัวปลา ก่อนนำไปตากแดด ในมุ้งซึ่งมีการดัดแปลงนำท่อพีวีซีมาทำโครงสร้างและใช้มุ้งทั้งหลังที่กางให้คนนอนนำไปสวมคลุมเอาไว้จนถึงพื้นดิน ซึ่งใช้เวลาตาก 2 แดด เพราะแดดเดียวยังแห้งไม่สนิท โดยไม่ต้องพลิกกลับตัวปลาแต่อย่างใด สำหรับปัญหาของการทำปลาหวานคือสภาพอากาศ เพราะจังหวัดตรังฝน 8 แดด 4 จึงต้องแย่งแสงแดดกับฝน ซึ่งช่วงหน้าฝนจะทำให้ปลาหวานไม่สวยและกลิ่นไม่หอม เมื่อปลาหวานที่ตากแห้งสนิทแล้วก็นำมาบรรจุใส่ถุง ถุงละ 85 กรัม หรือปลาประมาณ 17 ตัวต่อ 1 ถุง ขายปลีก ราคา 20 บาท หรือตามที่ลูกค้าต้องการแบบไหน
ราคาปลาหวานที่แปรรูปตากแห้งแล้ว กิโลกรัมละ 250 บาท กระดูกก้างตากแห้งกิโลกรัมละ 280 บาท หัวปลาและราวท้องกิโลกรัมละ 3 บาท ส่งให้กับเกษตรกรเลี้ยงเป็ดไก่ ถ้าในตัวเมืองส่งฟรี ขายมาเดือนกว่าการตอบรับดีมากมีการสั่งเข้ามาเรื่อยๆ วิธีที่นำไปทอดให้อร่อยต้องใช้ไฟอ่อนๆ และต้องคนเรื่อย ๆ พอดูว่าสีเหลืองสวยนำขึ้นมาพักไว้ความร้อนที่ยังอยู่บนเนื้อปลาจะทำให้เนื้อปลาสีเข้มขึ้น แต่ถ้าทอดนานจะทำให้ปลาสุกเนื้อแข็งกินไม่อร่อย จะมีความหอมอ่อน ๆ กรุบกรอบ รสชาติไม่หวาน ไม่เค็ม กำลังดี เหมาะกินกับข้าวสวย ข้าวต้ม หรือเป็นกับแกล้ม สามารถสั่งซื้อได้ทาง FB. ไอลดา คงวิพัฒนากุล โทรศัพท์ 093-7819080 , 062-1931196