ตรัง-ชาวบ้านโคกสะบ้า อ.นาโยง ใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่ไปลากลูกปลา ภายในนาข้าว ก่อนจะถึงฤดูกาลทำนาปี เผยเป็นวิถีชีวิตชาวบ้านหนึ่งปีมีเพียงหนึ่งครั้ง สุดทึ่ง! เจ้าของที่นาทุกแปลงไม่หวงที่ ใครจะลงหาลูกปลาในที่นาของใครก็ได้ แต่มีข้อแม้ห้ามหาเกินคนละ 1 มื้อแกงต่อวัน เพื่อการแบ่งปันให้ทั่วถึงในชุมชน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ จ.ตรัง ชาวบ้านใน ต.โคกสะบ้า อ.นาโยง และตำบลใกล้เคียง ได้ชักชวนเพื่อนบ้าน ลูกหลานและญาติพี่น้องออกไปหาลูกปลาในนาข้าวข้างบ้าน โดยใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่ทั้ง แห อวน นาง ไซ หรืออุปกรณ์จับปลาอื่น ๆ เพื่อนำมาเป็นอาหารบริโภคภายในครอบครัว ซึ่งช่วงระหว่างเดือน เม.ย. –ก.ค. ของทุกปี จะเป็นช่วงที่มีการปล่อยน้ำเข้านา เพื่อเตรียมทำนาปีในเดือน ส.ค.-ก.ย. ระหว่างนี้จะมีพันธุ์ปลาชนิดต่าง ๆ ขึ้นมาวางไข่ ทำให้มีลูกปลาในนาจำนวนมาก ชาวบ้านจึงออกหาลูกปลากันอย่างคึกคักตั้งแต่หลังเสร็จจากการกรีดยางพารา
โดยชาวบ้านได้กำหนดกติการ่วมกันคือเจ้าของที่นาทุกแปลงในตำบลโคกสะบ้า จะเปิดโอกาสให้ชาวบ้านจากหมู่บ้านหรือตำบลอื่น ๆ เข้ามาหาลูกปลาได้ ในที่นาที่มีน้ำท่วมขังโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ และสามารถมาหากินได้ทุกวัน แต่ให้หาได้เพียง 1 คนต่อ 1 มื้อเท่านั้น ห้ามหาไปขายเป็นอาชีพหลัก เพราะต้องการแบ่งปันให้ชาวบ้านคนอื่น ๆ ได้ลูกปลาไปกินกันอย่างทั่วถึง และอนุรักษ์ไว้สำหรับการหาลูกปลาในวันต่อ ๆ ไป ซึ่งที่นาที่ชาวบ้านไปหาลูกปลา ล้วนเป็นที่นาที่ปลอดภัยจากการใช้สารเคมี ทำให้ลูกปลาสมบูรณ์ อ้วน มัน แข็งแรงและมีรสชาติดี บางวันก็ได้ลูกปลาแถมแมงดานา ปูนาและกุ้งฝอยมาด้วย จึงต้องแบ่งปันกันหรือทำกับข้าวไปกินด้วยกันตามเขียงนา
นอกจากจะไม่ต้องซื้อหาและปลอดสารพิษแล้ว ยังได้ความรักความสามัคคีของคนในชุมชน ได้ออกกำลังกาย คลายความเครียด และลดรายจ่ายได้อีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งภาพการหาลูกปลาอย่างคึกคักของชาวตำบลโคกสะบ้า จะมีให้เห็นปีละครั้ง ในช่วงเวลา 3 เดือนหรือระหว่างเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคมเท่านั้น
ด้าน นายสุดสาคร สังฆรักษ์ อายุ 36 ปี ตัวแทนชาวบ้านกลุ่มจัดการน้ำ ต.โคกสะบ้า กล่าวว่า ชาวบ้านจะเริ่มหาลูกปลากันตั้งแต่หลังเดือน เม.ย.-ก.ค.ของทุกปี พอหลังนี้ลูกปลาจะเริ่มโตทำให้แกงไม่อร่อย ซึ่งชาวบ้านสามารถลงไปหาในที่นาของใครก็ได้ไม่มีการหวงห้าม แต่หาได้เพียง 1 คนต่อ 1 มื้อเท่านั้น ซึ่งลูกปลาที่นี่ปลอดภัยและถ้าหากินเองจะได้ออกกำลังกาย คลายเครียด เป็นเรื่องสนุกและความภาคภูมิใจด้วย.