ศบค.ตรัง ช่วยตอบโจทย์! ประชาชนคนตรัง กรณียุบ รพ.สนาม 1 ทุ่งแจ้ง หลังเปิดใช้งานไปแค่ 18 วัน คุ้มค่าเงินลงทุน 5.7 ล้านเศษ ตามที่ อบจ.ตรัง อนุมัติโอนจ่ายขาดสนับสนุนมาหรือไม่
ถึงวันนี้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงการใช้จ่ายงบประมาณในการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ของจังหวัดตรังของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (ศบค.) ตรัง ภายใต้การกำกับดูแลของ นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ในฐานะ ผอ.ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ตรัง
ซึ่งประเด็นนี้กลายเป็นโจทย์คำถามในวงกว้างจากสังคม และพี่น้องประชาชนคนตรัง ในการบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 หรือระลอกใหม่ ตั้งแต่ช่วงต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ตัวเลขวิกฤตยอดผู้ป่วยยืนยันสะสม ณ ตอนนี้ ทะลุเพดานกว่า 4 พันราย เสียชีวิตไปแล้ว 21 ราย และขณะนี้คลัสเตอร์สะเก็ดไฟแตกกระจายฟุ้ง ยอดผู้ป่วยยังไม่ลดละ
งบประมาณโรงพยาบาลสนาม 1 ทุ่งแจ้ง ไม่ใช่น้อยๆ โดยทางสาธารณสุขจังหวัดตรัง ร้องของบฯ สนับสนุนจาก อบจ.ตรัง อนุมัติโอนจ่ายขาด จำนวน 5,758,730 บาท จ้างเหมาปรับปรุงซ่อมแซมอาคารและติดตั้งอุปกรณ์บริเวณเตียงนอนสำหรับผู้ป่วย และจุดพักขยะติดเชื้อ ติดตั้งอุปกรณ์บริเวณเตียงนอน และระบบกล้องวงจรปิด ระบบไฟฟ้า ประปาที่เกิดปัญหาหลังเปิดใช้ได้ 3 วัน และยังมีงบประมาณของสาธารณสุขจังหวัดตรัง อีกจำนวน 900,000 บาท เป็นค่าตอบแทนบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข รวมงบประมาณทั้งสิ้น 6,658,730 บาทที่ทุ่มลงไปกับโรงพยาบาลสนาม 1 ทุ่งแจ้ง แห่งนี้ ซึ่งล้วนแต่มาจากเงินภาษีของพี่น้องประชาชน วัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับเฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกัน และรองรับผู้ป่วยโรคติดต่อ จึงฝากถามไปยัง นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ในฐานะผู้ควบคุมดูแลมีอำนาจสูงสุดใน ศบค.ตรัง และเป็นผู้ลงนามอนุมัติเห็นชอบ ออกมาพูดให้ชัดถ้อยชัดคำ….ปิดทำไม???
งานนี้ ส.อบจ.ตรัง 30 เขตยกมือพรึ๊บ! เห็นชอบผ่านสภาเพราะถือว่าเป็นประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชนคนตรัง ฝากตามการใช้จ่ายงบประมาณในส่วนนี้ด้วยครับว่า คุ้มค่าคุ้มทุนหรือไม่? และจี้สาธารณสุขจังหวัด กางสัญญาจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปโดยชอบและโปร่งใสหรือไม่?
ประเด็นสำคัญที่ต้องขออนุญาตย้อนแย้งว่า ทำไม ศบค.ตรัง ยังเห็นชอบที่จะส่งผู้ป่วยและกลุ่มเสี่ยงยังจ่ายค่าหัวส่งไปพักตามโรงแรมที่พัก อพาร์ทเมนท์ และเทกระจาดให้โรงพยาบาลเอกชน (แม้จะเบิกจ่ายงบส่วนกลาง) ทั้งที่เรามีโรงพยาบาลสนามไว้รองรับเพียงพอที่เปิดขึ้นมาแล้วถึง 6 แห่ง และบางแห่งยังไม่เปิดใช้งานด้วยซ้ำ อย่างน้อยๆ จะช่วยประหยัดงบประมาณแผ่นดิน และไม่ถูกมองว่าเป็นการละเลงงบประมาณเพื่อนเปิดโรงพยาบาลสนามโดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า
วันนี้ข่าวล่าสุดยุบ รพ.สนามหมดแล้ว คงเหลือที่เดียวไปกระจุกตัวอยู่ที่ศูนย์ฝึกกีฬาเอนกประสงค์ สถาบันการพละศึกษา มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ ประจำวิทยาเขตตรัง ศบค.ตรัง คิดอะไรอยู่ ลองคิดทบทวน.